ฎีกาเด่น* วิชา กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค3-4(อ.ธานี สิงหนาท) ภาคปกติ
29 พฤศจิกายน 2561 สัปดาห์ที่2 สมัยที่71
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2495 แม้จำเลยในคดีอาญาได้ยื่นคำร้องให้ถ้อยคำไม่ขออุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วกลับยื่นอุทธรณ์ในภายหลังก็ดี ก็หามีกฎหมายใดที่ตัดสิทธิห้ามอุทธรณ์ ศาลจึงรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้ตามกฎหมาย
จำเลยในคดีอาญา ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อศาลชั้นต้นได้พิจารณาเห็นมีเหตุผลสมควรที่จะยืดอายุความอุทธรณ์ให้และสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้ ก็ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2338/2536 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลย จำเลยอุทธรณ์ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตแล้วพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 245 จึงชอบแล้ว และเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีย่อมถึงที่สุด จำเลยจะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้ เมื่อจำเลยเห็นว่า ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดไม่ถูกต้อง ก็ชอบที่จะไปร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งแก้ไขหมายนั้นเสียก่อน เพราะหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเป็นหมายอาญามิใช่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 และ 216
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2493 การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี จะมาร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว เพื่อจะทำการอุทธรณ์ฎีกาคดีต่อไปนั้นไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10908/2556 จำเลยฆ่า ส. ผู้ตายโดยบันดาลโทสะ ส. จึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด ส. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ว. มารดาของ ส. ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 รวมทั้งไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กับไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษและขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ว. เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคำร้องขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 (อ่านต่อ...)
--------------------------------------------------------------------- ข้อมูลความรู้ แบ่งปันสมาชิก เพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษา เท่านั้น. รวบรวม สกัดหลักจากคำพิพากษาศาลฎีกา,คำบรรยายเนติฯ ,อื่นๆ และ/หรือ จากสมาชิกเว็บไซต์ ที่ร่วมแบ่งปันข้อมูล.
---------------------------------------------------------------------
จำนวนเข้าชม/ดาวน์โหลด : 217 ครั้ง |