มาตราที่ออกสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา ข้อ 5 วิแพ่ง
มาตรา ๔๒ (วรรคหนึ่ง ออกสอบ ข้อ ๕ ปี ๒๕๕๕ ,๒๕๕๙ , ววรคหนึ่ง ๒๕๖๑) ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้ จะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ โดยมีคำขอเข้ามาเอง หรือโดยที่ศาลหมายเรียกให้เข้ามา เนื่องจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว คำขอเช่นว่านี้จะต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะ
ถ้าไม่มีคำขอของบุคคลดังกล่าวมาแล้ว หรือไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นเสียจากสารบบความ
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๑๕/๒๕๔๘ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๒ วรรคสอง มิใช่เป็นบทบังคับศาลให้ต้องจําหน่ายคดีเสมอไป และ ตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งจําหน่ายคดีเสียจากสารบบความ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็มี สิทธิขอให้เรียกบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่คู่ความ มรณะได้ แม้จะพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีแล้วก็ตาม
คำสั่งคำร้องที่ ๒๑๐๒/๒๕๑๗ โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ฟ้องขอให้ถอดถอนจําเลยจากการเป็นผู้พิทักษ์โจทก์ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ตัวโจทก์ตาย น้องของโจทก์ขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเรื่องถอดถอนผู้พิทักษ์ไม่เป็นคดีที่ทายาทจะรับมรดกความของคู่ความที่ถึงแก่ความตายได้เมื่อโจทก์ซึ่งอยู่ในความพิทักษ์ถึงแก่ความตาย ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาฎีกา ของจําเลยต่อไป ให้จําหน่ายคดี
คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ ท.๑๘๑๐/๒๕๕๔ คดีขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่ใช่คดีที่ทายาทของผู้คัดค้านจะเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้คัดค้านผู้มรณะได้ ให้ยกคำร้อง
กรณีคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในฐานะผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย
คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ ท.๑๙๕/๒๕๕๔ จําเลยที่ ๑ ถูกฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เมื่อจําเลยที่ ๑ ถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ของจําเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงเพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก หาได้ตกทอดไปยังทายาทไม่ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของจําเลยที่ ๑ จะขอเข้าเป็นคู่ความแทนจําเลยที่ ๑ เพื่อดำเนินคดีในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. มิได้
จําเลยที่ ๖ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจําเลยที่ ๔ โดยไม่ปรากฎ ทายาทอื่น และจําเลยที่ ๔ ถึงแก่ความตาย ประกอบกับไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงอนุญาต ให้จําเลยที่ 5 เป็นคู่ความแทนจําเลยที่ ๔ ผู้มรณะได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๒
--------------------------------------------------------------------- ข้อมูลความรู้ แบ่งปันสมาชิก เพื่อประโยชน์สำหรับเตรียมสอบ เท่านั้น. รวบรวม สกัดหลักจากคำพิพากษาศาลฎีกา ,ฎีกาใหม่,คำบรรยายเนติฯ ,อื่นๆ และ/หรือ จากสมาชิกเว็บไซต์ ที่ร่วมแบ่งปันข้อมูล.
---------------------------------------------------------------------
จำนวนเข้าชม/ดาวน์โหลด : 121 ครั้ง |