หลักการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง - กฏหมายแรงงาน
********
กรณีตามบทบัญญัติมาตรา ๑๓ กำหนดขึ้นเพื่อที่จะคุ้มครองลูกจ้างในกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง หรือมีการควบโอนกิจการของนายจ้างไปรวมกับนิติบุคคลอื่น ไม่ให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้าง สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ลดน้อยลง
การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างมี ๒ กรณี ดังนี้
๑. กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา ได้แก่ การโอนการรับมรดก เช่น ถ้าตัวเจ้าของกิจการถึงแก่ความตาย ทายาทโดยธรรมก็เข้ามารับดำเนิน กิจการต่อ กรณีเช่นว่านี้ทายาทโดยธรรมนั้นก็ต้องจ่ายค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิ ประโยชน์อื่นใดเท่าที่เคยจ่ายมาให้แก่ลูกจ้างเช่นเดียวกับนายจ้างเดิม
๒. กรณีที่เป็นนิติบุคคล หากมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมการ เปลี่ยนแปลงหุ้นหรือเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น หรือแม้แต่การควบกิจการของนายจ้าง สิทธิ ประโยชน์ของลูกจ้าง ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม
กรณีดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาแก่นายจ้างที่กิจการควบกัน เนื่องจากในกิจการนั้น จะมีลูกจ้างที่มาจากหลายกิจการ ค่าจ้าง และสวัสดิการต่างๆ จะเหลื่อมล้ำต่ำสูงกัน เกิดความยุ่งยากในการบริหารงานบุคคลเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างและลูกจ้างในกิจการที่จะเข้าควบรวมกันนั้นได้เจรจาและทำข้อตกลง กันไว้ให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ที่กำหนดขึ้นใหม่ ก็จะทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒๔๒-๗๒๕๔/๒๕๔๕ (ข้อสอบสมัยที่ ๖๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๓) เมื่อมีการจดทะเบียนควบรวมกิจการแล้ว กิจการที่ควบรวมกันนั้นต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกประการอันเกี่ยวกับลูกจ้างของกิจการที่โอนไปนั้นตามมาตรา ๑๓ และ ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๗ ซึ่งผลของกฎหมายดังกล่าวลูกจ้างของกิจการเดิมย่อมโอนไปเป็นลูกจ้างของกิจการที่ควบรวมในทันทีโดยอัตโนมัติแม้ลูกจ้างจะมิได้แสดงเจตจำนงว่าประสงค์จะโอนฯ เว้นแต่ลูกจ้างของกิจการเดิมที่เข้ามาควบรวมจะแสดงความประสงค์ว่าไม่ยินยอมโอนไปเป็นลูกจ้างของกิจการที่ควบรวม จึงจะถือว่ากิจการเดิมของลูกจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากสภาพ นิติบุคคลของกิจการเดิมได้หมดสินอันเป็นเหตุให้ลูกจ้างนั้นไม่สามารถทำงานต่อไปได้ตาม มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๔๘๗/๒๕๕๑ กรณีที่จำเลยรับโอนลูกจ้างจากบริษัทหนึ่ง โดยบริษัทนั้นยังคงตั้งอยู่ ลูกจ้างที่ไม่ตกลงโอนย้ายไปเป็นลูกจ้างของจำเลยก็ยังคงทำงานอยู่กับบริษัทนั้นต่อไป เป็นเพียงการโอนลูกจ้างจากบริษัทดังกล่าวไปเป็นลูกจ้างของจำเลย ด้วยความยินยอมของลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๗ วรรคหนึ่ง ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างที่เป็นนิติบุคคลโดยมีการจดทะเบียนโอนกิจการ กรณีจำเลยรับโอนลูกจ้างดังกล่าวมาจึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จำเลยไม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้น ข้อตกลงในสัญญาโอนย้ายพนักงานภายใต้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ที่จำเลยทำกับลูกจ้างที่โอนย้ายมา จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับได้
อ้างอิง : คำบรรยายเนติ สมัยที่ 68 - วิชา กฏหมายแรงงาน (อ.เกษมสันต์ วิลาวรรณ) วันที่ 27-06-2558
|